เรื่องเล่าของเต่า

เต่าในขณะที่มังกรผู้สง่างามมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมจีนและฮวงจุ้ย น้อยคนหนักที่จะตระหนักว่าเต่าก็มีความสำคัญและทรงอำนาจเท่าเทียมกัน และในฐานะที่เป็นผู้คุ้มกันแห่งสวรรค์ เต่ายังถือว่าเป็นสัตว์ที่ดีเยี่ยมกว่ามังกรผู้ทรงอำนาจเสียอีกด้วย

แน่นอนว่าเต่าผู้อืดอาดจนกลายมาเป็นนิยามเดียวกับความเชื่องช้าไม่ได้โง่งุ่มง่ามดังที่บรรยายไว้ในการ์ตูนหรือในสุภาษิตที่คุ้นเคยการเคลื่อนที่ของเต่าดูช้าและไม่ไหวติ่งมากกว่าที่จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งมีชีวิตนี้แหละที่เป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความพากเพียรพยายาม ความมุ่งมั่น และความเด็ดเดี่ยว "ช้าแต่มั่นคง" หรือ "ช้าและชัวร์" คือคุณสมบัติที่เลื่องลือของเต่า การตั้งอยู่ในความเชื่องช้าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีๆ ทั้งหลายที่จะมาสู้ผู้ที่รู้จักรอคอยด้วยความอดทน ในขณะที่บางคนอยากจะสร้างเงินล้านให้ได้ก่อนอายุ 25 แต่คนบางคนอาจพอใจที่จะค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัว เก็บเงินไว้ใช้ในวันหน้า เต่าเป็นสัญลักษณ์สากลที่เป็นที่นิยมและยอบรับในทุกๆ อารยธรรม แม้ว่าจะเป็นที่ยกย่องโดยชาวจีนเสียเป็นส่วนมากดังที่เห็นว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีสถานะโดดเด่นในทางฮวงจุ้ย แต่เต่าก็เป็นเช่นเดียวกับหงส์ ชิหลิน แมว และค้างคาวที่ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในจักรราศีจีน แม้กระนั้น เต่าก็ยังเป็นที่รู้จักในแง่ของความมีอายุยืนยาวและความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เป็นที่ยอบรับในหลายวัฒนธรรม ในเทพนิยายของฮินดู เชื่อว่ามีเต่าชื่อ Chukwa เป็นฐานให้กับช้างชื่อ Mahapudma ซึ่งทำหน้าที่หนุนโลกเอาไว้ และโดยบังเอิญเช่นกันที่ความเชื่อดังกล่าวก็มีอยู่ในตำนานของจีนที่เล่าว่ามีเต่าขนาดยักษ์สี่ตัวทำหน้าที่ค้ำเสาจักรวาลเอาไว้ คำว่า "เต่า" มาจากคำภาษาละติน 'testudo' ซึ่งมีความหมายว่า "เกราะ" หรือสิ่งปกป้องคุ้มครอง ทหารโรมันโบราณใช้กระดองเต่าทั้งอันมาสวมเป็นหมวกเกราะป้องกันศีรษะจากลูกธนูที่ยิงเข้ามาและน้ำมันเดือดที่ราดลงมาเมื่อต้องบุกโจมตีป้อมปราการ และยังใช้กระดองเต่าเป็นโล่ตั้งเป็นกำแพงที่ทรงประสิทธิภาพเมื่อเข้าต่อตีกับข้าศึกด้วย

ช้าและมั่นคงช่วงชิงชัยชนะ

นิทานเรื่องกระต่ายกับเต่าเป็นเรื่องที่เด็กๆ รู้จักกันดีเป็นนิทานสอนเด็กในเรื่องคุณธรรมด้านความมุมานะพากเพียร ในนิทานสอนใจเรื่องนี้ กระต่ายและเต่าท้าประลองวิ่งแข่งกัน กระต่ายพุ่งออกไปจากจุดเริ่มต้นอย่างรวดเร็วราวกับจรวด ทิ้งเต่าผู้เชื่องช้ากว่ามากไว้ข้างหลังแบบไม่เห็นฝุ่น กระต่ายผู้ลำพองวิ่งออกไปไกลลิ่ว และมันตัดสินใจที่จะหยุดพักใต้ร่มไม้ โชคร้ายจริงๆที่มันดันผล็อยหลับไป ในขณะเดียวกัน เต่าผู้เชื่องช้าก็ยังคงดั้นด้นเดินต่อไปอย่างช้าๆ ผ่านเจ้ากระต่ายที่นอนหลับปุ๋ย และไปถึงเส้นชัยก่อนที่กระต่ายที่ตื่นขึ้นมาจะไล่กรวดตามทัน นับเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับชีวิตที่ใครๆ ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ด้วยความช้าและมั่นคงนี้

อคิลลิสกับเต่า

และยังมีเรื่องในแนวปฎิภาคพจน์ที่แต่งโดยนักคณิตศาตร์นามว่า Zeno ในช่วงก่อนคริสต์ศักราชปี 425 ชื่อเรื่อง "อคิลลิสกับเต่า" นิทานปริศนาเรื่องนี้ได้ทิ้งคำถามที่น่าสนใจ ซึ่งไม่มีสูตรคำนวณที่แม่นยำใดๆ ทางคณิตศาสตร์ที่สามารถไขปริศนานี้ได้ ในการวิ่งแข่งระหว่างอคิลลิส ( วีรบุรุษรูปงามในสงครามกรุงทรอย ) กับเต่า อคิลลิสได้ให้เต่าวิ่งนำไปก่อน 100 ยาร์ด ( ประมาณ 90 เมตร ) ในการวิ่งแข่งจริงๆ ระหว่างคนกับเต่า คนย่อมสามารถวิ่งชนะได้อย่างง่ายดาย ต่อให้เต่านำไปก่อนครึ่งไมล์ก็ตาม แต่ในทางทฤษฎี การวิ่งแข่งที่ดูเหมือนง่ายนี้กลับจบลงด้วยความผิดหวัง เพราะอคิลลิสเป็นฝ่ายแพ้ เมื่ออคิลลิสวิ่งไปถึง 100 ยาร์ดแรก เต่าวิ่งไปได้ 10 ยาร์ด เมื่ออคิลลิสวิ่งไปได้ไกล 10 ยาร์ด เต่าวิ่งไปได้ 1 ยาร์ด เมื่ออคิลลิสวิ่งไป 1 ยาร์ด เต่าวิ่งไป 1 ใน 10 ยาร์ด และต่อเนื่องไปไม่มีจุดสิ้นสุด ปริศนาข้อนี้ไม่สามารถหาคำตอบได้จนกระทั่งทศวรรษที่ 17 เมื่อ เจมส์ เกรกอรี เป็นผู้พิสูจน์เรื่อง "อนุกรมคอนเวอร์เจนต์" ( อนุกรมอนันต์ที่สามารถหาผลบวกได้ ) ที่ทำให้จำนวนที่ไม่มีที่สิ้นสุดสามารถบวกเข้าด้วยกันไปสู่จำนวนที่เป็นผลลัพธ์ได้

บทบาทของเต่าในทางฮวงจุ้ยและในวัฒนธรรมจีน

นอกจากท่วงท่าที่เชื่องช้าแล้ว เต่ายังขึ้นชื่อในเรื่องของความมีอายุยืนยาวอีกด้วย หลายๆคนเชื่อว่าเต่าสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึงหนึ่งร้อยปี และด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่าเต่าสามารถเห็นเหตุการณ์ในอนาคตได้ มีการค้นพบกระดองเต่าที่ถูกเผาอายุประมาณหนึ่งพันปีที่มีคำถามจารึกอยู่บนกระดอง ผู้ที่ต้องการค้นหาคำตอบจะจารึกคำถามเกี่ยวกับอนาคตไว้บนกระดอง จากนั้นก็จะนำกระดองไปเผาและหมอผีก็จะเป็นผู้ตีความจากร่องรอยที่ปรากฎ และยังมีสมมติฐานว่าเต่าปรากฎตัวขึ้นมาจากแม่น้ำลั่วในประเทศจีนพร้อมกับจัตุรัส "โล่ชู" ที่ไขความลับของปากัว เต่าเป็นผู้นำจัตุรัสโล่ชูที่ประกอบด้วยหมายเลขต่างๆ บนกระดองของมันมาให้กับ "ฝูซี" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของจีน กล่าวกันว่า ฝูซี (หรือที่บางคนเชื่อว่าคือ เล่าจื๊อ) เป็นผู้เขียนตำรา "อี้จิง" (Book of Changes) ขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นตำราที่เป็นพื้นฐานของทฤษฎีส่วนใหญ่ทางศาสตร์ฮวงจุ้ย และบางคนก็เชื่อว่าเทพธิดาแห่งสวรรค์ทั้งเก้าเป็นผู้มอบความรู้ด้านฮวงจุ้ยให้แก่มนุษย์  

สัตว์สัญลักษณ์ทั้งสี่ประจำทิศทั้งสี่

เชื่อกันว่าสัตว์ที่ทรงพลังเป็นผู้คุ้มครองประจำทิศต่างๆทั้งสี่ทิศในเข็มทิศ มังกรเขียวเป็นผู้ดูแลดวงดาวทั้งหลายที่ปรากฎขึ้นทางทิศตะวันออกในช่วงโพล้เพล้ของฤดูใบไม้ผลิ ส่วนดวงดาวที่ปรากฎในทิศตะวันตกจะอยู่ภายใต้การดูแลของเสือขาว ในขณะที่ดวงดาวทางทิศใต้จะเป็นของหงส์แดง และสุดท้ายคือเต่าดำซึ่งทำหน้าที่ดูแลดวงดาวทางทิศเหนือ

หากคุณไม่สามารถเลี้ยงเต่าเป็นๆได้ การมีเต่าหินอ่อน หินทราย เซรามิก ก็ให้พลังเท่าเทียมกัน เต่าดำประจำอยู่ทางทิศเหนือ ดังนั้นจึงควรวางเต่าไว้ทางทิศเหนือของบ้านเพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด